the memory place outside my brain !!!

Sunday, February 04, 2007

ขออาศัยฝากความรู้หน่อยนะจ๊ะ

กลไกป้องกันตน (Defense Mechanism) เป็นหนึ่งในหัวข้อการศึกษาของ จิตวิทยา
กลไกป้องกันตน เป็นเครื่องมือในการบิดเบือนหรือหนีจากความจริงที่สร้างความไม่สบายใจหรือทุกข์ใจ กลไกป้องกันตนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด นอกจากว่าเราใช้มันมากไปและบ่อย จนทำให้ขาดความรู้สึกที่แท้จริงไปหรือใช้จนกระทั่งชีวิตประจำวันต้องผันแปรไปจากปกติ หากเป็นอย่างนี้ ก็เรียกได้ว่า เราเกิดพยาธิสภาพทางจิตขึ้นแล้ว เราแยกชนิดของกลไกป้องกันตน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. กลไกป้องกันตนประเภทถอยหนี (Escape techniques) ใช้เพื่อหนีหรือหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่ทำให้เกิด
ความวิตกกังวล

การเก็บกด (Repression) ซึ่ง Freud เป็นคนเริ่มแนะนำคำๆนี้ โดยอธิบายว่าหมายถึง วิธีการที่บุคคลพยายามฝังความคิดที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลให้อยู่แต่ในจิตใต้สำนึก และรบกวนชีวิตประจำวันได้ ซึ่งการเก็บกดไม่เหมือนความพยายามไม่นึกถึง การไม่นึกถึงเป็นการเก็บกักความคิดหรือความรู้สึกโดยรู้ตัวว่าตัวเองพยายามเก็บอะไร ซึ่งความคิดหรือความรู้สึกนั้นยังฝังอยู่ในจิตสำนึกอยู่ แต่การเก็บกดนั้นเป็นการลบให้มันหายไปจากความรู้สึกและความทรงจำ ซึ่งความจริงแล้วมักไม่หายไปแต่จะเข้าไปฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนๆนั้น บางคนไม่ได้พยายามลบเฉพาะเหตุการณ์นั้นๆเท่านั้น แต่จะลบทุกอย่างที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆด้วย การเก็บกดที่มีลักษณะเด่นชัดและมีความรุนแรงที่สุดนั้นอยู่ในรูปของโรคลืม (amnesia) ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากความผิดปกติทางกาย เช่น เกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ ซึ่งอาการของโรคนี้ที่มีสาเหตุจากทั้ง 2 ชนิด มีลักษณะคล้ายกัน จึงทำให้ยากต่อการแยกแยะว่าเกิดจากชนิดใด จึงต้องมีการตรวจหาสาเหตุควบคู่กันไป

การสร้างจินตนาการ (fantasy) ซึ่งมีหลายระดับ หลายรูปแบบที่พบบ่อย คือ การฝันกลางวัน (day dreaming) มักเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในระยะที่บุคคลเข้าสู่วัยรุ่น อันเป็นวัยที่เขาไม่แน่ใจในบทบาทและเกิดความคับข้องใจจากความไม่แน่ใจนั้น และจากปัญหาอื่นๆซึ่งมักเกิดในวัยนี้ หากไม่สามารถที่จะปรับตัวเข้ากับความจริงได้ เขาอาจหนีเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ จนในที่สุดอาจไม่สามารถแยกความจริงกับจินตนาการออกจากกันได้ และเกิดพยาธิสภาพทางพฤติกรรมขึ้น
การถอยกลับ (regression) นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า การแสดงตนว่าป่วยไข้ของคนบางคน อาจเกิดจากการต้องการความสนใจจากคนอื่นๆ (hypochondriac) เหมือนเด็กๆที่ต้องการพึงพาพ่อแม่ การจะพึ่งพาคนอื่นจะทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเราแสดงตัวว่าป่วย หากเป็นพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ จะเกิดขึ้นจากความคับข้องใจที่รุนแรง และการคงอยู่ของพฤติกรรมนั้นทำให้บุคคลแก้ไขความคับข้องใจได้ลำบากขึ้น

2. กลไกป้องกันตนประเภทประนีประนอม (Compromise techniques) เราใช้มันเพื่อลดความเครียดอันเกิดจากความผิดพลาดหรือความล้มเหลวของตนเอง แต่การใช้ในปริมาณที่มากและบ่อยเกินไป ก็เป็นอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของพฤติกรรมที่รุนแรงได้

การซัดโทษ (projection) เป็นการเก็บกดและปิดลักษณะที่ไม่เหมาะสมของตนเอง และขณะเดียวกันก็ป้ายลักษณะที่ไม่เหมาะสมนั้นไปให้คนอื่น ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว จากการที่เราไม่ชอบ ไม่อยากเห็น ตัวเราเองไม่ดี จึงกล่าวหาว่าคนอื่นมีลักษณะนั้นๆแทนเสีย

การทดแทน (sublimation) ซิกมุนด์ ฟรอยด์กล่าวว่า การทดแทนเป็นการที่คนสร้างจุดมุ่งหมายที่ 2 ขึ้นมาแทนจุดมุ่งหมายที่พลาด จะใช้เมื่อเรากลัวการไม่ยอมรับจากสังคม โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งคนเราไม่สามารถที่จะสนองตอบความต้องการทางเพศของเราได้เสมอไป จึงต้องมีกิจกรรมอื่นเข้ามาเพื่อทดแทน เช่น การออกกำลังกาย วาดเขียนและเขียนหนังสือ เป็นต้น หากการทดแทนมีมากเกินไป อาจทำให้บุคคลสูญเสียความนับถือในตนเองได้

การกลบเกลื่อนโดยแสดงออกในทางตรงกันข้าม (reaction formation) การกลบเกลื่อนโดยแสดงออกในทางลบ เกิดจากการที่บุคคลมีแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็มีความโกรธโดยไม่รู้ตัว ว่าจะมีคนอื่นรู้และตำหนิเขาที่มีแรงจูงใจที่น่าละอายนั้น กลัวว่าคนอื่นจะมองว่าคุณค่าของตนเองลดลง ส่วนการ

กลบเกลื่อนโดยแสดงออกในทางบวก เป็นการพยายามแสดงความดีหรือแสดงพฤติกรรมที่สังคมยอมรับมากเกินขอบเขต

การชดเชย (compensation) เกิดจากการที่บุคคลเกิดความคับข้องใจในเป้าหมายที่ไม่สามารถบรรลุได้ จึงตั้งเป้าหมายใหม่ที่สามารถเป็นไปได้และใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิม ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายการทดแทน แต่การทดแทน เกิดจากความคิดหรือความรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ส่วนการเบนเป้าหมาย เกิดจากความล้มเหลวที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม หากการเบนเป้าหมายมีมากเกินไปอาจทำให้คนอื่นรำคาญ และไม่ยอมรับในตัวบุคคลคนนั้นได้เช่นกัน

----------------------------------------------------

มามองตัวเองหน่อย ฮ่าฮ่า

เก็บกด --> ไม่เคยเป็นเลย ดีใจจัง ส่วนใหญ่เก็บไปแค้นมากกว่า ไม่เคยเก็บเหตุการณ์ไม่ดีไว้ในใจ ไม่ได้ลืมด้วย แต่วันๆไม่ว่างจำ เพราะว่า จำแต่เรื่องที่เคยพูดว่า "จำไว้นะเมิง" ฮ่า ฮ่า ฮ่า

สร้างจินตนาการ --> อันนี้พอมีบ้าง โดยมากจะเป็นเวลาที่ปิ๊งใคร อ่ะนะ เวลาแอบชอบคนอื่น ใครไม่จิ้นให้ถีบเลย แต่มีลิมิตในการจินตนาการนะ ก็จะจิ้นไปจนกว่า เค้าจะรังเกียจเราอ่ะ อิอิ แล้วเราก็ต้องเลิกไปเอง

การถอยกลับ --> อันนี้น่าจะออกแนวเรียกร้องความสนใจนะ ไม่รู้สิ ไม่เคยทำ ไม่อยากให้ใครมามองว่าเราอ่อนแอจนต้องมาดูแล ส่วนใหญ่จะเป็นแนว สร้างจินตนาการว่าเราเก่ง แข็งแรง เท่ ไว้ก่อน จะได้ปกป้องคนที่เรารักได้

การซัดโทษ --> อันไหนที่เราเป็นแล้วเห็นว่าไม่ดี เลยไปว่าคนอื่นเหรอ อันนี้ไม่เคยทำนะ เคยแต่ซัดลูกโทษ เช่น ขึ้นเรือผิดก็โทษเพื่อนว่ามันไม่ดูตาม้าตาเรือ (ฮา) ทั้งๆที่เป็นคนเดินนำขึ้นเรือ

การทดแทน --> เออ อันนี้สงสัยจะเป็นว่ะ เพราะฉะนั้น คนรอบคอบอย่างกุ๊ก จึงมี 2 เป้าหมายเสมอ เพื่อทดแทน อย่างกิ๊กเวลามี ต้องอย่างน้อย ขอ 2 ไว้ก่อน อิอิ เจ๊เอก็ชอบด่าว่า เป็นน้องพลับหรือไง ถึงชอบขอ 2 แต่มันช่วยไม่ได้อ่ะ เพื่อพลาดคนที่ 1 ยังมีกิ๊กที่ 2 มาปลอบใจ

การกลบเกลื่อนโดยการแสดงออกตรงกันข้าม --> อันนี้ก็เป็นนะ อิอิ กับคนที่ชอบจริงๆ ชอบทำเป็นไม่ชอบ ก็มันเขินอ่ะ จะให้ไปพูดเลยหรือไง ที่รักจ๋า ฉันชอบเธอนะ ไม่มีทาง ต้องด่าๆเถียงๆไว้ก่อนเป็นพอใจ เอ๊ะ หรือเปล่านะ ไม่เอาไม่พูด

การชดเชย --> อันนี้คล้ายทดแทนเกินไปละ อ่านไม่เข้าใจ เอาเป็นว่า ชดเชยไม่ค่อยชอบ แต่ใครทำอะไรกูไว้ เมิงต้องชดใช้ ฮ่า ฮ่า ฮ่า

ว่าไปนั่น แถจริงๆ

Monday, October 09, 2006

ทำไมต้องสวดมนต์...ทำไมต้องไปสวดมนต์ที่วัด...

การสวดมนต์นั้น ธรรมดาปุถุชนมักมองว่าเป็นการกระทำที่ไร้ค่า การพร่ำบ่นในภาษาที่เราไม่รู้จัก แปลไม่ออก ไม่เข้าใจ มันจะทำให้เราเป็นคนดีได้อย่างไร


อันที่จริง มนุษย์คิดเช่นนั้นมันก็ถูก การจะเชื่อสิ่งใดโดยไม่ได้ไตร่ตรองก่อนก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าใดนัก แต่ว่า การสวดมนต์ก็มีข้อดีในตัวมัน
ง่ายๆ มันทำให้จิตใจ เราเย็นลง
เวลาที่เราโกรธ ฝรั่งมักบอกว่า ให้นับ 1 ถึง 100 ถึง 1,000 นับไปเรื่อยๆ แล้วจะเย็นลง จะไม่โกรธ ซึ่งมันไม่ต่างจาการสวดมนต์เลย เพราะตัวเลขทั้งหลาย ถึงมีความหมายแต่ไม่มีความหมายใดกับอารมณ์โกรธเลย อันที่จริง พระพุทธองค์ท่านค้นพบเรื่องนี้ และนำมาประยุกต์ให้มีความแยบคายยิ่งกว่า นั่นคือการสวดมนต์

ศาสนาพุทธเริ่มขึ้นในอินเดีย คนที่นั่นใช้ภาษามคธ หรือปัจจุบันเรียกว่า ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ผู้ที่สวดท่องก็จะเข้าใจความหมายของบทสวด แต่เมื่อศาสนาพุทธเผยแผ่เข้ามาในเมืองไทย ภาษามคธไม่ได้เผยแผ่มาถึง เพราะเป็นภาษาที่ไม่มีใครใช้อีกต่อไปแล้ว จึงได้ถูกเรียกว่า ภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า รักษา เช่นเดียวกับภาษาโรมัน คือ เป็นภาษาที่ตายแล้ว
ยกตัวอย่างบทสวด เช่น นะโมตัสสะ...ฯ ก็เป็นการสวดเพื่ออัญเชิญพระพุทธองค์ ไม่สิ เรียกว่า บอกพระพุทธเจ้าดีกว่า เพราะฉะนั้นเวลาที่จะสวดมนต์บทไหน ถึงต้องตั้ง นะโมฯ 3 จบก่อน คือ บอกพระพุทธองค์ว่า เรากำลังจะตั้งจิตอธิษฐานในเรื่องนี้

การสวดมนต์ที่จริงมันจึงเป็นการท่องในถ้อยคำที่มีความหมาย เช่น บทสวด ธัมมจักรกัปวัตนสูตร เนื้อความเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเจอกับอัครสาวกทั้ง 5 และแสดงธรรม เข้าใจว่า น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังสารวัฎ ถึงได้แทนลักษณะด้วย ธรรมจักร เจอเนื้อความตอนหนึ่งซึ่งเป็นคำแปลว่าไว้ดังนี้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอริยสัจธรรม ๔ แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้ พระนครพาราณสี อริยสัจธรรมที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์"
หรือ
บทสวด ไตรสรณคมณ์ (เรียกแบบนี้หรือเปล่าไม่แน่ใจ) ที่สวดว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ...ฯ คำแปลคือ ข้าพเจ้าขอน้อมเอาพระพุทธเป็นที่พึ่ง หรือ พระธรรมเป็นที่พึ่ง พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สองก็ยังยืนยันจะเอาพระพุทธเป็นที่พึ่ง พระธรรมเป็นที่พึ่ง (ทุติยัมปิ) แม้ครั้งที่สามก็ยังยืนยัน (ตะติยัมปิ) นัยยะสำคัญจริงๆจึงมีประมาณนี้

ซึ่งคนไทยไม่เข้าใจก็งงว่า สวดไปทำไม อ่านก็ยาก เลยมีคนไทย ส่วนใหญ่เป็นชนรุ่นใหม่ คิดว่า งี่เง่า ไร้สาระ สวดมนต์ทำไม แต่ที่จริงแล้วมันคือ
การเตือนตัวเองซ้ำๆ ในเรื่องบางเรื่อง เตือนตัวเองว่า จะเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เอา ฟิล์ม กอล์ฟ ไมค์ พี่เบิร์ด ผับ เธค เหล้า เป็นที่พึ่ง
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องสวดมนต์ เพื่อเตือนตัวเองนั่นเอง

การสวดมนต์ แม้เราจะไม่ได้เข้าใจอะไรในภาษานั้นเลย แต่เราก็รู้สึกสบายใจหลังจากสวดมนต์เสร็จ

อันนี้เป็นผลพลอยได้จากการสวดมนต์ คือ อย่างที่บอกว่า เวลาเราโกรธเค้าให้เรานับ 1 ถึง 1,000,000 นับไปเรื่อยๆจะหายโกรธ เช่นเดียวกัน หากว่า สวดมนต์ สวดซ้ำๆไปเรื่อยๆ สมาธิจะจดจ่ออยู่ที่คำที่เปล่ง อยู่ที่การออกเสียง สมองจะไม่ฟุ้งซ่าน พอสวดจนเสร็จ อารมณ์ต่างๆที่สัมผัสมาทั้งวัน มันจะจางลง จิตจะนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องที่ควรคิดเท่านั้น และทำให้เกิดปัญญา ก็เหมือนเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง กุ๊กคิดว่าอย่างนั้นนะ เคยได้ยินคนเปรียบเทียบจิตของเราว่า เป็นเหมือนวัวบ้า วัวคะนอง พร้อมจะเตลิดไปได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเราต้องฝึกจิตด้วยการสวดมนต์ไหว้พระ เหมือนกับผูกวัวไว้กับหลัก นานไปมันจะนิ่งได้เอง

สวดมนต์......ที่วัด

มีคนเคยบอกว่า สวดมนต์ที่วัด มันจะได้อานิสงส์มากกว่า ก็อาจจะจริง เพราะว่า มีคนมารวมกันเยอะ พลังแห่งความตั้งใจมันก็มาก อีกทั้งยังมีการเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมารวมกันด้วย แต่ว่า หากมองในแง่เหตุผลที่กุ๊กคิดเอง ประสบมาเอง รู้สึกว่า การสวดมนต์ในวัด ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้นในการสวด เพราะว่า เวลาที่จิตเราหลุดจากสมาธิ หลุดจากบทสวดมนต์ คิดนู่นคิดนี่ เราจะเริ่มสวดผิดสวดถูก ซึ่งกุ๊กเป็นบ่อยทีเดียว สวดไปสวดมาก็นึกถึงเรื่องนู้นเรื่องนี้ไปเรื่อย วันที่เป็นมากที่สุด คือ วันที่เครียดเรื่องพี่ตาจนปวดท้องนั่นแหล่ะ คิดอยากจะพาเค้ามาสวดมนต์ เผื่อเค้าจะสบายใจขึ้น สวดผิดไปเยอะเลย แต่ทุกครั้งที่สวดผิด จิตจะกลับมามีสมาธิและสวดได้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว เพราะว่ากระแสจากคนอื่นที่กำลังตั้งใจสวดมนต์อยู่พาไป อารมณ์มันประมาณเดียวกับ เวลาเราร้องเพลง ถ้าร้องคนเดียวอาจมั่วได้ง่ายเหลือเกิน แต่ถ้าร้องไปตามเพลงที่เป็น original มีเสียงนักร้องตัวจริงๆอยู่แล้ว เราจะร้องได้ดีกว่า ร้องเองกะดนตรี หรือร้องเพียวๆไม่มีดนตรีประกอบเลย การสวดมนต์ในวัดก็อารมณ์เดียวกัน มันมีสิ่งที่ชี้นำจิตให้เข้าสู่สมาธิได้ง่ายขึ้น เมื่อมีสมาธิมากขึ้น การสวดมนต์ครั้งนั้น ก็ได้อานิสงส์ที่มากขึ้นนั่นเอง

พูดต่อจากอันเดิมเรื่องการแย่งกันนั่งที่สวดมนต์

เนื่องจากว่า คนไทย รับพุทธศาสนามาจากอินเดีย และอายุของศาสนาก็มากเหลือเกิน ทำให้เกิดสิ่งผิดเพี้ยน นานัปการ นั่นคือ พิธีรีตองต่างๆ ซึ่งหลายๆอันมันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ แต่คนก็ยึดถือ และปนกันมั่วไปหมด การสวดมนต์ อันที่จริงมันทำได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว สวดได้เองก็ปากเปล่าได้เลย สวดเองไม่ได้ คุณต้องเตรียมอุปกรณ์เพิ่มคือ หนังสือสวดมนต์อีกเล่มหนึ่ง มีความตั้งใจ และอ่านหนังสือออก คุณจะสวดที่ไหน ตอนไหนก็ได้ แต่การไปสวดมนต์ที่วัด มันมีข้อดีดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
แต่ที่คาใจ คือ การที่คนยึดติดกับการนั่งในโบสถ์ สวดในวัด ใกล้ชิดพระประธาน ใกล้ชิดพระสงฆ์ การยึดติดมันจะทำให้ใจหมองและกลายเป็นกิเลสไป เหมือนกับว่า คุณซื้อเรือมาหนึ่งลำ เพื่อจะข้ามฟาก พอข้ามฟากไปได้แล้ว แทนที่จะเดินขึ้นฝั่งไปเรื่อยๆ กลับมานั่งเฝ้าเรือของตัวเองเอาไว้ เพราะยึดถือว่า ถ้าไม่มีเรือก็คงมาไม่ถึงจุดนี้ กลายเป็นลืมวัตถุประสงค์ที่แท้จริงไป กิเลสเป็นสิ่งสกปรกและติดหนึบ ตั้งแต่วินาทีแรกที่คิดจะมีกิเลส ท่านก็ไม่อาจไปถึงฝั่งแห่งนฤพานได้แล้ว เมื่อมีกิเลสคิดว่า เราอยากจะไปสวดมนต์ในโบสถ์ เราต้องไปสวดมนต์ในโบสถ์ ต้องไปเร็วๆไปจองที่ ก็เหมือนกับคุณเริ่มซื้อเรือ เมื่อสวดมนต์คือ เดินทาง สวดเสร็จคือถึงฝั่ง แต่พอถึงฝั่งแล้ว คุณกลับไปเดินนั่งเฝ้าเรือ ก็คือ การที่คุณเอาจิตปักทิ่มลงที่พื้นโบสถ์ คิดว่า พรุ่งนี้ต้องมาสวดอีก ต้องมานั่งในนี้อีก นั่งตรงนี้อีก ใจเลยไม่หลุดพ้น สู่ภาวะแห่งความว่างเปล่าที่แท้จริง
มองคนกลุ่มนี้แล้วก็คิดได้ว่า คนเหล่านี้มีความเพียร แต่ขาดโอกาสในการเรียนรู้ ทำให้ขาดโอกาสที่จะใช้ความรู้มาไตร่ตรอง หากจะหาคนรับผิดชอบ ก็ต้องโทษการสอนศาสนาของเราที่หลังๆไม่สนใจหลักธรรมที่เป็นแก่นสักเท่าไร ส่วนมากจะใส่ใจกับเปลือกๆหรือไม่งั้นก็สนใจพวกกาฝากที่ไม่ใช่ต้นไม้ต้นที่เราต้องการ แค่แปะอยู่ด้วยกัน เช่น การให้หวย (ถึงกุ๊กจะชอบซื้อหวย แต่ก็ไม่ได้คิดจะไปขอหวยจากพระธุดงค์นะ ซื้องวดละ 20 บาทเอง ไม่สนเรื่องถูกกินอยู่แล้ว) อันนี้เป็นกาฝากของพระศาสนาชัดๆ ส่วนเปลือกๆก็คือพิธีรีตองที่เกินจำเป็นต่างๆ แต่ทุกวันนี้ดีอย่าง ยังมีพระดีๆอีกมาก ที่พยายามสอนในสิ่งเหล่านี้ สอนที่แก่น ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การเอาเรื่องราวยุคพุทธกาลมาเล่าสู่กันฟังให้คนเก็บไปคิด ลักษณะเดียวกับฟังนิทานอีสป วิธีนี้ดีมากๆ ฟังง่าย เข้าใจง่าย ได้ข้อคิด

ไม่แน่ว่า อีกไม่นาน ศาสนาเราจะเล็กลง แต่คนที่อยู่ในศาสนาก็จะดีขึ้น




ภาพนี้ถ่ายเอง จาก วัดเทวราชกุญชร...=>

**บทความนี้เพื่อให้ท่านสวดมนต์โดยใจสมัครและศรัทธา มิใช่งมงาย

Saturday, October 07, 2006

ที่ไม่มีตัวตน

วันนี้ไปสวดมนต์กะเวมมา
เหตุผลกลใดไม่ปรากฎวันนี้คนเยอะกว่าทุกๆวัน ทั้งที่กุ๊กไปตั้งแต่ 6 โมง 50 นาที ก่อนเวลาสวดจริง 10 นาที แต่ปรากฎว่า ไม่มีที่นั่งในโบสถ์ ต้องออกมานั่งเก้าอี้สวดนอกโบสถ์ คนนั่งข้างนอกกันกเยอะ โดยเฉพาะคนแก่ที่เดินขึ้นลงไม่ไหว หรือมีปัญหาเรื่องข้อเข้าก็นั่งข้างนอก ข้อดีก็คือ ที่นั่งเป็นเก้าอี้ ห้อยขา สบายกว่านั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิ และลมเย็นจริงจัง แต่ข้อเสียคือ ท่านต้องมีสมาธิสูงส่ง เพราะคนจะเดินเพ่นพ่าน

การนั่งสวดมนต์ข้างนอกทำให้กุ๊กบังเกิดความคิดว่า

ในการไปสวดมนต์ที่วัด จะมีบางคนที่อยากจะเข้านั่งในโบสถ์ ถึงขั้นต้องเบียดเสียดต้องแย่งไปนั่งข้างใน บางที การนั่งข้างในหรือข้างนอกโบสถ์มันอาจจะไม่มีนัยยะอะไรเลยก็ได้
ถ้าทุกคนแย่งกันนั่งข้างใน ปัญหามันก็จะเกิด บางคนเค้าถือนะ เค้าว่าต้องนั่งข้างในมันถึงจะได้บุญ บุญมันอยู่ที่ตรงไหน ถ้าเราตั้งใจมาสวดมนต์แล้ว นั่งตรงไหนก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา พอเห็นแบบนี้แล้ว ทำให้นึกถึงเวลาไปไหว้พระตามวัดดังๆ คนเยอะๆ ก็จะมีคนบางประเภท ที่ต้องแย่ง ฉันต้องได้นั่งตรงนี้ ต้องได้ธูป เทียน ก่อน ต้องไหว้ก่อน ต้องแย่ง คือ บางทีคนเราไปทำบุญ น่าจะไปด้วยใจกุศล การไปแย่งกันทำบุญ มันคือการไปเอาบุญจริงๆหรือ??

Wednesday, October 04, 2006

ปรัชญา...ปรสิต


เวลาที่หยิบเอาหนังสือการ์ตูนที่เคยอ่านแล้วตอนเด็กมาอ่านใหม่อีกครั้ง ความรู้สึกในตอนนั้นกับตอนนี้มันช่างแตกต่าง เรื่องบางเรื่องเคยเข้าใจอย่างนึง มาตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นอีกอย่าง เรื่องบางเรื่องเคยไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น แปลกมากๆ ทั้งที่เซลล์สมองเราไม่ได้พัฒนาขึ้นอีกต่อไปแล้ว มีแต่จะตายลงๆ แต่ทำไมพอมนุษย์โตขึ้น กลับยิ่งฉลาดขึ้น!!!

วันนี้เช่าการ์ตูนเรื่อง ปรสิต ที่เคยอ่านตอนป.6 มาอ่านอีกรอบ พออ่านจบก็รู้สึกว่า วันพรุ่งนี้ต้องไปเดินเซ็นทรัลและซื้อยกชุดมาเก็บไว้ เพราะเป็นการ์ตูนที่ดีมากๆ แม้จะอ่านแล้วทำให้ต้องใช้สมองมากขึ้น (ถ้าคนอ่านรู้จักคิด) แต่รู้สึกว่า จะปล่อยให้การ์ตูนเรื่องนี้หลุดมือไปไม่ได้

เรื่องมีอยู่ว่า วันนึง ไม่รู้วันไหน มีปรสิตจากต่างดาว เข้ามาในโลก และพยายามที่จะยึดเอาสมองของมนุษย์เป็นของมัน หลังจากยึดสมองได้ มันก็ควบคุมร่างกายทั้งหมดของมนุษย์ แต่ที่น่าแปลก คือ ปรสิตได้รับคำสั่งให้มาเกิด เพื่อ กินมนุษย์ ทั้งที่กินอย่างอื่นก็ได้ แต่พวกมันก็ยังดำรงชีวิตตามคำสั่งให้กินมนุษย์

มาคิดๆดูให้ดี มนุษย์เราที่เกิดมาก็เหมือนได้รับคำสั่งอะไรบางอย่าง และคำสั่งนั้นผลักดันให้มนุษย์ สืบเผ่าพันธุ์และดำรงชีวิตต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น ในเรื่องมันจะมีปรสิตบางตัวที่มีความคิดมากกว่าตัวอื่น มันถามตัวเองว่ามันเกิดมาทำไม ทำไมมันต้องกินมนุษย์ เมื่อสุดท้ายมันสามารถหาคำตอบได้ และไม่มีใครรู้ว่า คำตอบนั้นคืออะไร มันก็เลือกทางที่จะตาย ทั้งที่จะเอาตัวรอด ณ ขณะนั้นก็ทำได้ แต่มันเลือกทางที่จะตาย มันไม่อาจจะเป็นมนุษย์ได้ ไม่ว่ามันจะมีความคิดแค่ไหน มนุษย์ก็จะมองมันเป็นแค่สัตว์ประหลาด และพวกสัตว์ประหลาดอย่างปรสิตตัวอื่นๆ ก็มองว่า มันแตกกลุ่ม เมื่อเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้ เป็นปรสิตก็ไม่ได้ มันจึงเลือก "ความตาย"

==>ปรสิตที่อาศัยผู้หญิงคนนี้แหล่ะ ที่เลือกความตาย คงเพราะท้ายที่สุดแล้ว แสงสว่างปลายอุโมงค์ของความทุกข์ก็คือความตาย(มั๊ง??)

ไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือแม้กระทั่งสัตว์ประหลาด(ถ้ามี) มันก็ต้องทำอะไรตามที่คนกลุ่มใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล แม้ว่าเรื่องบางเรื่องจะมีเหตุผลฟังได้ แต่ถ้ามันแตกต่าง ความแตกต่างก็จะเปลี่ยนเป็นความแตกแยก มนุษย์ไม่ยอมรับคนที่เก่งกว่าตัวเอง เมื่อใครเก่งกว่า คิดอะไรได้มากกว่า และความคิดนั้นเหนือล้ำกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะเข้าใจได้ มนุษย์ฉลาดก็ไม่ได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับที่ ยอดนักปราชญ์เช่น โสเครตีส เคยอยู่ในสภาพลำบากนั้นมาก่อน มนุษย์ไม่ยอมรับคนที่โง่กว่า เพราะถือว่า เป็นภาระ เป็นตัวถ่วงของวงสังคม ไม่ว่าคนนั้นจะมีประโยชน์หรือไม่ สรุปแล้ว มนุษย์ไม่ยอมรับใครเลย นอกจากพวกพ้อง หรือ มนุษย์อื่นที่ถูกมองว่าเหมือนกัน คนจึงอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และในกลุ่มนั้น จึงมีแต่คนชนิดเดียวกัน ประเภทเดียวกัน พระพุทธองค์เล็งเห็นในสิ่งนี้ (หรือเปล่าไม่รู้ เดาเอา) พระองค์จึงตรัสว่า คนเช่นไร ย่อมคบคนชนิดเช่นนั้น

สาเหตุของความคิดรวมกลุ่มเฉพาะคนลักษณะเดียวกันนั้น น่าจะมาจากการที่มนุษย์อ่อนแอ ขี้อาย มองโลกในแง่ร้าย และใจแคบ
มนุษย์อ่อนแอ จึงได้คิดว่า ถ้าคนอ่อนแอมารวมกันอยู่จำนวนมาก ก็จะเหมือนไม้ไผ่ก้านเล็กๆ รวมกันเป็นมัด หากคิดจะหักก็ไม่ง่าย แต่ว่า ไม้ที่จะมัดรวมกันได้ มันก็ต้องเหมือนๆกัน ถ้าเล็กบ้างใหญ่บ้าง อ้วนบ้างผอมบ้าง มัดมันก็ไม่แน่น ก็ยังทำลายได้ง่ายเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่แตกกลุ่ม สิ่งนั้นก็ต้องถูกกำจัดออกไปก่อน
มนุษย์ขี้อาย เวลาจะทำอะไรจึงต้องการสายตาที่เป็นกำลังใจจากคนรอบข้าง ไม่กล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ จึงมารวมกลุ่มกับคนที่เหมือนๆตัวเอง เวลาทำอะไรจะได้ไม่รู้สึกแปลก
มนุษย์มองโลกในแง่ร้าย เมื่อเวลาที่จะทำอะไรมักคิดเสมอว่า คนอื่นๆกำลังจ้องมา และทุกสายตากำลังดูถูกดูแคลน จับจ้องด้วยความไม่เป็นมิตร เพราะฉะนั้น จึงพยายามที่จะรวมกลุ่มเฉพาะกับคนที่มีลักษณะเหมือนๆกัน เพื่อที่จะได้ไม่มีใครมองใครด้วยสายตาดูถูกดูแคลน เพราะที่คนหนึ่งทำก็จะเหมือนกับที่อีกคนทำ
มนุษย์ใจแคบ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น มนุษย์อยากเป็นผู้พูดมากกว่าผู้ฟัง ทั้งที่การฟังให้สาระมากกว่าการพูดแท้ๆ มนุษย์มักคิดว่า คนที่คิดแตกต่างจากตัวเอง เป็นคนบ้า ประหลาด เข้าใจยาก หลุดโลก เพราะใจแคบคิดว่าตัวเองดีที่สุด ถูกที่สุด เก่งที่สุดเสมอ

มาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึง "ระบบสังคมอุปถัมภ์" ของไทย การเล่นพรรคเล่นพวก การเล่นเส้นสาย มันก็มีจุดกำเนิดมาจากตรงนี้นี่เอง การรวมกลุ่มของคนที่คิดเหมือนกัน คือ การทำชั่วเป็นการเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง คิดแค่นี้ การทำชั่วก็มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ ทำให้จุดกำเนิดที่ว่า เป็นตัวสร้างกลุ่มก้อนแห่งคอรัปชั่น และหยั่งรากฝังลึก ชนิดที่ปราบไม่มีวันหมด

ซึ่งเอาจริงๆแล้ว "ไอ้พวกปรสิตในคราบนักการเมือง"นี่แหล่ะ

*****เดรัจฉาน ตัวจริง*****

สถานที่เก็บความคิดที่ล้นจากสมองอันซับซ้อน

จากวันนี้ไป กุ๊กจะใช้พื้นที่นี้เป็นส่วนต่อของสมอง เพื่อเก็บรายละเอียกทางความคิดที่มันยุ่งยาก ซับซ้อน และหาผู้ที่เข้าใจได้ยาก

หวังว่า จะมีผู้ที่เข้าใจได้ในเรื่องเดียวกัน ชอบและอยากที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะ!!!