the memory place outside my brain !!!

Monday, October 09, 2006

ทำไมต้องสวดมนต์...ทำไมต้องไปสวดมนต์ที่วัด...

การสวดมนต์นั้น ธรรมดาปุถุชนมักมองว่าเป็นการกระทำที่ไร้ค่า การพร่ำบ่นในภาษาที่เราไม่รู้จัก แปลไม่ออก ไม่เข้าใจ มันจะทำให้เราเป็นคนดีได้อย่างไร


อันที่จริง มนุษย์คิดเช่นนั้นมันก็ถูก การจะเชื่อสิ่งใดโดยไม่ได้ไตร่ตรองก่อนก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าใดนัก แต่ว่า การสวดมนต์ก็มีข้อดีในตัวมัน
ง่ายๆ มันทำให้จิตใจ เราเย็นลง
เวลาที่เราโกรธ ฝรั่งมักบอกว่า ให้นับ 1 ถึง 100 ถึง 1,000 นับไปเรื่อยๆ แล้วจะเย็นลง จะไม่โกรธ ซึ่งมันไม่ต่างจาการสวดมนต์เลย เพราะตัวเลขทั้งหลาย ถึงมีความหมายแต่ไม่มีความหมายใดกับอารมณ์โกรธเลย อันที่จริง พระพุทธองค์ท่านค้นพบเรื่องนี้ และนำมาประยุกต์ให้มีความแยบคายยิ่งกว่า นั่นคือการสวดมนต์

ศาสนาพุทธเริ่มขึ้นในอินเดีย คนที่นั่นใช้ภาษามคธ หรือปัจจุบันเรียกว่า ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ผู้ที่สวดท่องก็จะเข้าใจความหมายของบทสวด แต่เมื่อศาสนาพุทธเผยแผ่เข้ามาในเมืองไทย ภาษามคธไม่ได้เผยแผ่มาถึง เพราะเป็นภาษาที่ไม่มีใครใช้อีกต่อไปแล้ว จึงได้ถูกเรียกว่า ภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า รักษา เช่นเดียวกับภาษาโรมัน คือ เป็นภาษาที่ตายแล้ว
ยกตัวอย่างบทสวด เช่น นะโมตัสสะ...ฯ ก็เป็นการสวดเพื่ออัญเชิญพระพุทธองค์ ไม่สิ เรียกว่า บอกพระพุทธเจ้าดีกว่า เพราะฉะนั้นเวลาที่จะสวดมนต์บทไหน ถึงต้องตั้ง นะโมฯ 3 จบก่อน คือ บอกพระพุทธองค์ว่า เรากำลังจะตั้งจิตอธิษฐานในเรื่องนี้

การสวดมนต์ที่จริงมันจึงเป็นการท่องในถ้อยคำที่มีความหมาย เช่น บทสวด ธัมมจักรกัปวัตนสูตร เนื้อความเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเจอกับอัครสาวกทั้ง 5 และแสดงธรรม เข้าใจว่า น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังสารวัฎ ถึงได้แทนลักษณะด้วย ธรรมจักร เจอเนื้อความตอนหนึ่งซึ่งเป็นคำแปลว่าไว้ดังนี้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอริยสัจธรรม ๔ แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้ พระนครพาราณสี อริยสัจธรรมที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์"
หรือ
บทสวด ไตรสรณคมณ์ (เรียกแบบนี้หรือเปล่าไม่แน่ใจ) ที่สวดว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ...ฯ คำแปลคือ ข้าพเจ้าขอน้อมเอาพระพุทธเป็นที่พึ่ง หรือ พระธรรมเป็นที่พึ่ง พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่สองก็ยังยืนยันจะเอาพระพุทธเป็นที่พึ่ง พระธรรมเป็นที่พึ่ง (ทุติยัมปิ) แม้ครั้งที่สามก็ยังยืนยัน (ตะติยัมปิ) นัยยะสำคัญจริงๆจึงมีประมาณนี้

ซึ่งคนไทยไม่เข้าใจก็งงว่า สวดไปทำไม อ่านก็ยาก เลยมีคนไทย ส่วนใหญ่เป็นชนรุ่นใหม่ คิดว่า งี่เง่า ไร้สาระ สวดมนต์ทำไม แต่ที่จริงแล้วมันคือ
การเตือนตัวเองซ้ำๆ ในเรื่องบางเรื่อง เตือนตัวเองว่า จะเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เอา ฟิล์ม กอล์ฟ ไมค์ พี่เบิร์ด ผับ เธค เหล้า เป็นที่พึ่ง
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องสวดมนต์ เพื่อเตือนตัวเองนั่นเอง

การสวดมนต์ แม้เราจะไม่ได้เข้าใจอะไรในภาษานั้นเลย แต่เราก็รู้สึกสบายใจหลังจากสวดมนต์เสร็จ

อันนี้เป็นผลพลอยได้จากการสวดมนต์ คือ อย่างที่บอกว่า เวลาเราโกรธเค้าให้เรานับ 1 ถึง 1,000,000 นับไปเรื่อยๆจะหายโกรธ เช่นเดียวกัน หากว่า สวดมนต์ สวดซ้ำๆไปเรื่อยๆ สมาธิจะจดจ่ออยู่ที่คำที่เปล่ง อยู่ที่การออกเสียง สมองจะไม่ฟุ้งซ่าน พอสวดจนเสร็จ อารมณ์ต่างๆที่สัมผัสมาทั้งวัน มันจะจางลง จิตจะนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องที่ควรคิดเท่านั้น และทำให้เกิดปัญญา ก็เหมือนเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง กุ๊กคิดว่าอย่างนั้นนะ เคยได้ยินคนเปรียบเทียบจิตของเราว่า เป็นเหมือนวัวบ้า วัวคะนอง พร้อมจะเตลิดไปได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเราต้องฝึกจิตด้วยการสวดมนต์ไหว้พระ เหมือนกับผูกวัวไว้กับหลัก นานไปมันจะนิ่งได้เอง

สวดมนต์......ที่วัด

มีคนเคยบอกว่า สวดมนต์ที่วัด มันจะได้อานิสงส์มากกว่า ก็อาจจะจริง เพราะว่า มีคนมารวมกันเยอะ พลังแห่งความตั้งใจมันก็มาก อีกทั้งยังมีการเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมารวมกันด้วย แต่ว่า หากมองในแง่เหตุผลที่กุ๊กคิดเอง ประสบมาเอง รู้สึกว่า การสวดมนต์ในวัด ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้นในการสวด เพราะว่า เวลาที่จิตเราหลุดจากสมาธิ หลุดจากบทสวดมนต์ คิดนู่นคิดนี่ เราจะเริ่มสวดผิดสวดถูก ซึ่งกุ๊กเป็นบ่อยทีเดียว สวดไปสวดมาก็นึกถึงเรื่องนู้นเรื่องนี้ไปเรื่อย วันที่เป็นมากที่สุด คือ วันที่เครียดเรื่องพี่ตาจนปวดท้องนั่นแหล่ะ คิดอยากจะพาเค้ามาสวดมนต์ เผื่อเค้าจะสบายใจขึ้น สวดผิดไปเยอะเลย แต่ทุกครั้งที่สวดผิด จิตจะกลับมามีสมาธิและสวดได้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว เพราะว่ากระแสจากคนอื่นที่กำลังตั้งใจสวดมนต์อยู่พาไป อารมณ์มันประมาณเดียวกับ เวลาเราร้องเพลง ถ้าร้องคนเดียวอาจมั่วได้ง่ายเหลือเกิน แต่ถ้าร้องไปตามเพลงที่เป็น original มีเสียงนักร้องตัวจริงๆอยู่แล้ว เราจะร้องได้ดีกว่า ร้องเองกะดนตรี หรือร้องเพียวๆไม่มีดนตรีประกอบเลย การสวดมนต์ในวัดก็อารมณ์เดียวกัน มันมีสิ่งที่ชี้นำจิตให้เข้าสู่สมาธิได้ง่ายขึ้น เมื่อมีสมาธิมากขึ้น การสวดมนต์ครั้งนั้น ก็ได้อานิสงส์ที่มากขึ้นนั่นเอง

พูดต่อจากอันเดิมเรื่องการแย่งกันนั่งที่สวดมนต์

เนื่องจากว่า คนไทย รับพุทธศาสนามาจากอินเดีย และอายุของศาสนาก็มากเหลือเกิน ทำให้เกิดสิ่งผิดเพี้ยน นานัปการ นั่นคือ พิธีรีตองต่างๆ ซึ่งหลายๆอันมันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ แต่คนก็ยึดถือ และปนกันมั่วไปหมด การสวดมนต์ อันที่จริงมันทำได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว สวดได้เองก็ปากเปล่าได้เลย สวดเองไม่ได้ คุณต้องเตรียมอุปกรณ์เพิ่มคือ หนังสือสวดมนต์อีกเล่มหนึ่ง มีความตั้งใจ และอ่านหนังสือออก คุณจะสวดที่ไหน ตอนไหนก็ได้ แต่การไปสวดมนต์ที่วัด มันมีข้อดีดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
แต่ที่คาใจ คือ การที่คนยึดติดกับการนั่งในโบสถ์ สวดในวัด ใกล้ชิดพระประธาน ใกล้ชิดพระสงฆ์ การยึดติดมันจะทำให้ใจหมองและกลายเป็นกิเลสไป เหมือนกับว่า คุณซื้อเรือมาหนึ่งลำ เพื่อจะข้ามฟาก พอข้ามฟากไปได้แล้ว แทนที่จะเดินขึ้นฝั่งไปเรื่อยๆ กลับมานั่งเฝ้าเรือของตัวเองเอาไว้ เพราะยึดถือว่า ถ้าไม่มีเรือก็คงมาไม่ถึงจุดนี้ กลายเป็นลืมวัตถุประสงค์ที่แท้จริงไป กิเลสเป็นสิ่งสกปรกและติดหนึบ ตั้งแต่วินาทีแรกที่คิดจะมีกิเลส ท่านก็ไม่อาจไปถึงฝั่งแห่งนฤพานได้แล้ว เมื่อมีกิเลสคิดว่า เราอยากจะไปสวดมนต์ในโบสถ์ เราต้องไปสวดมนต์ในโบสถ์ ต้องไปเร็วๆไปจองที่ ก็เหมือนกับคุณเริ่มซื้อเรือ เมื่อสวดมนต์คือ เดินทาง สวดเสร็จคือถึงฝั่ง แต่พอถึงฝั่งแล้ว คุณกลับไปเดินนั่งเฝ้าเรือ ก็คือ การที่คุณเอาจิตปักทิ่มลงที่พื้นโบสถ์ คิดว่า พรุ่งนี้ต้องมาสวดอีก ต้องมานั่งในนี้อีก นั่งตรงนี้อีก ใจเลยไม่หลุดพ้น สู่ภาวะแห่งความว่างเปล่าที่แท้จริง
มองคนกลุ่มนี้แล้วก็คิดได้ว่า คนเหล่านี้มีความเพียร แต่ขาดโอกาสในการเรียนรู้ ทำให้ขาดโอกาสที่จะใช้ความรู้มาไตร่ตรอง หากจะหาคนรับผิดชอบ ก็ต้องโทษการสอนศาสนาของเราที่หลังๆไม่สนใจหลักธรรมที่เป็นแก่นสักเท่าไร ส่วนมากจะใส่ใจกับเปลือกๆหรือไม่งั้นก็สนใจพวกกาฝากที่ไม่ใช่ต้นไม้ต้นที่เราต้องการ แค่แปะอยู่ด้วยกัน เช่น การให้หวย (ถึงกุ๊กจะชอบซื้อหวย แต่ก็ไม่ได้คิดจะไปขอหวยจากพระธุดงค์นะ ซื้องวดละ 20 บาทเอง ไม่สนเรื่องถูกกินอยู่แล้ว) อันนี้เป็นกาฝากของพระศาสนาชัดๆ ส่วนเปลือกๆก็คือพิธีรีตองที่เกินจำเป็นต่างๆ แต่ทุกวันนี้ดีอย่าง ยังมีพระดีๆอีกมาก ที่พยายามสอนในสิ่งเหล่านี้ สอนที่แก่น ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การเอาเรื่องราวยุคพุทธกาลมาเล่าสู่กันฟังให้คนเก็บไปคิด ลักษณะเดียวกับฟังนิทานอีสป วิธีนี้ดีมากๆ ฟังง่าย เข้าใจง่าย ได้ข้อคิด

ไม่แน่ว่า อีกไม่นาน ศาสนาเราจะเล็กลง แต่คนที่อยู่ในศาสนาก็จะดีขึ้น




ภาพนี้ถ่ายเอง จาก วัดเทวราชกุญชร...=>

**บทความนี้เพื่อให้ท่านสวดมนต์โดยใจสมัครและศรัทธา มิใช่งมงาย

1 Comments:

Blogger wittawat_wit said...

ผมรออ่านเรื่องต่อไปของกุ๊กอยู่นะ รีบเขียนเลยนะ น้องรัก รออ่านอยู่นะ

7:34 AM  

Post a Comment

<< Home